เกี่ยวกับกาแฟ

"การดื่มกาแฟเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษกันแน่"


 กาแฟ (coffee) เป็นเครื่องดื่มมหัศจรรย์ที่มีรสชาติหอมหวน ชวนดื่ม บางคนก็บอกว่ากาแฟนั้นเป็นเครื่องดื่มจากสวรรค์ เพราะมันสร้างสุนทรียภาพให้กับผู้ดื่มได้ บางคนก็ทำธุรกิจร้านกาแฟจนมีเงินตั้งตัวได้ และอีกไม่น้อยที่ถึงกับทำให้ร่ำรวยเลยทีเดียว แต่ทางด้านวิชาการก็มีข้อมูลของกาแฟต่อผลของสุขภาพอยู่มากมาย บ้างก็บอกว่ามันมีประโยชน์อยู่ไม่ใช่น้อย แต่บ้างก็บอกว่ามีโทษอยู่เยอะเหมือนกัน



  การที่คนเราดื่มกาแฟนั้น ถ้าไม่ได้ติดใจในรสชาติของกาแฟแล้ว ส่วนหนึ่งก็อาจจะเพราะหวังผลลดความง่วง สารออกฤทธิ์สำคัญที่อยู่ในกาแฟคือสารคาเฟอีน (caffeine) สารเคมีชนิดนี้มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท จึงทำให้ผู้ดื่มตื่นจากอาการง่วงได้ นอกจากฤทธิ์กระตุ้นประสาทแล้ว คาเฟอีนยังออกฤทธิ์ต่อร่างกายส่วนอื่นๆ ด้วยไม่ต่างจากการกินยาชนิดหนึ่งเข้าไป ผลข้างเคียงที่ว่านี้ได้แก่ ทำให้ใจสั่น ชีพจรเร็วขึ้น เวียนหัว กระสับกระส่าย ปากแห้ง ปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องเสีย ปัสสาวะเพิ่มขึ้น ผลข้างเคียงที่กล่าวมานี้ อาจเกิดขึ้นมากน้อยแตกต่างกันไปในคนแต่ละคน หรือในคนคนเดียวกัน ผลบางอย่างก็เกิดมาก ผลบางอย่างก็เกิดน้อย ผลแต่ละอย่างจะเกิดมากหรือเกิดน้อยก็ขึ้นอยู่กับปริมาณคาเฟอีนที่ได้รับและสรีระวิทยาของร่างกาย

     ด้วยเหตุนี้ท่านที่อยู่ในวงสังคมคนชอบดื่มกาแฟ คงจะเคยได้ยินเพื่อนบางคนบอกว่า ดื่มกาแฟแล้วไม่เห็นหายง่วงเลย หรือดื่มกาแฟทีไรแล้วท้องเสียทุกที หรือดื่มกาแฟแล้วใจสั่นจนทำงานไม่ได้ ในขณะที่บางคนดื่มกาแฟไปแล้วมีอาการเหล่านี้บ้างแต่ก็ไม่รุนแรงนัก    

     ในเรื่องของฤทธิ์กระตุ้นสมอง ก่อให้เกิดอาการใจสั่น และทำให้ชีพจรเต้นเร็วนั้น หากได้รับคาเฟอีนในปริมาณสูงมาก เช่น ในกรณีของการกินคาเฟอีนอัดเม็ดที่มีขายในต่างประเทศเข้าไปจำนวนมากเกิน สามารถทำให้หัวใจเต้นรัวจนเสียชีวิตได้ ในกรณีของการกินเมล็ดกาแฟสดเข้าไปจำนวนมาก ก็เคยมีรายงานว่าทำให้มีอาการโคม่าได้เหมือนกัน แต่สำหรับกรณีของกาแฟที่ชงสำเร็จแล้วนั้น ปริมาณคาเฟอีนที่มีอาจไม่มากพอที่จะทำให้โคม่าหรือเสียชีวิตได้ ถ้าไม่ได้ดื่มเข้าไปหลายๆ ลิตร

     ในภาพรวมของการทำให้เสียชีวิตและเป็นมะเร็งในระยะยาว เราพบว่าการดื่มกาแฟเป็นประจำอาจช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุรวม กันลงได้ สำหรับในเรื่องการก่อมะเร็งนั้น ข้อสรุปเท่าที่มีในปัจจุบันเราเชื่อว่าการดื่มกาแฟไม่ใช่เหตุก่อมะเร็ง

     มีงานวิจัยหลายชิ้น บ่งชี้ว่ากาแฟ อาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงจากโรคบางอย่างได้ ตัวอย่างของโรคเหล่านี้ เช่น โรคหลงลืม (dementia) โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) ทำให้ความจำระยะสั้นดีขึ้น (short term recall) ลดความเสี่ยงต่อการเป็นนิ่วในถุงน้ำดี (gallstone) ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน (diabetes) ช่วยป้องกันภาวะตับแข็ง (cirrhosis) ลดความเสี่ยงต่อการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease) ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกาต์ (gout)

     หากกล่าวถึงผลเสียของการดื่มกาแฟ ก็มีงานวิจัยหลายฉบับที่พบอันตรายจากการดื่มกาแฟเช่นกัน ที่ค่อนข้างชัดเจนคือกาแฟทำให้เป็นแผลในกระเพาะอาหาร กระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อน ทำให้ระดับไขมันในเลือดสูงขึ้น ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นชั่วคราว รบกวนการดูดซึมธาตุเหล็กและทำให้เกิดภาวะโลหิตจางในมารดาและทารก ทำให้นอนไม่หลับ และวิตกกังวล
ในเรื่องการป้องกันฟันผุ มีการตั้งสมมติฐานว่า สารกลุ่มโพลีฟีนอลในกาแฟมีฤทธิ์ป้องกันฟันผุได้ ดังนั้นการดื่มกาแฟไม่ใส่น้ำตาลอาจทำให้ลดโอกาสในการเกิดฟันผุลง แต่หากมองในแง่ความสวยงามแล้ว พบว่ากาแฟมีฤทธิ์ทำให้ฟันเหลือง  

     เกี่ยวกับอาการปวดหัวกับกาแฟ ในอดีตเราเชื่อว่าคาเฟอีนในกาแฟเป็นสารที่มีฤทธิ์แก้ปวดหัวได้ ยาแก้ปวดหัวหลายสูตรจึงมีส่วนผสมของคาเฟอีนอยู่ด้วย ซึ่งได้ผลทั้งในกรณีปวดศีรษะแบบบีบรัด และโรคปวดศีรษะไมเกรน อย่างไรก็ตามงานวิจัยบางส่วนมีข้อมูลแย้งว่า การได้รับคาเฟอีนในระยะสั้นนั้นอาจลดอาการปวดหัวได้จริง แต่ถ้าดื่มบ่อยๆ จนเกิดอาการติด เมื่อไม่ได้ดื่มกลับจะทำให้ปวดหัวมากขึ้น
   
     ส่วนในเรื่องของการต้านอนุมูลอิสระ มีการกล่าวถึงกาแฟทั้งแง่ที่ว่าสามารถป้องกันมะเร็งได้ เนื่องจากฤทธิ์ของสารต้านอนุมูลอิสระในกาแฟหลายตัว เช่น เมทิลไพริดิเนียม โพลีฟีนอล อย่างไรก็ตาม ฤทธิ์ของสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้ ค้นพบการออกฤทธิ์แค่เพียงในหลอดทดลองเป็นส่วนใหญ่ การพิสูจน์ผลออกฤทธิ์ที่เกิดประโยชน์ในคนจริงๆ ยังไม่มีชัดเจน การเชื่ออย่างสนิทใจว่ากินกาแฟแล้วจะป้องกันมะเร็งได้นั้นจึงยังอาจไม่ถูกนัก ในทางตรงข้ามกัน นักวิจัยก็ค้นพบสารสกัดที่อาจก่อมะเร็งอยู่ในกาแฟหลายชนิดเหมือนกัน แต่สารเหล่านี้ก็มีข้อมูลแต่เพียงในหลอดทดลอง ข้อสรุปที่เป็นกลางในปัจจุบันนี้ที่พอเชื่อถือได้ คือการกล่าวว่า การดื่มกาแฟค่อนข้างชัดเจนว่าไม่ใช่เหตุก่อมะเร็ง แต่ฤทธิ์ต้านมะเร็งนั้นมีจริงหรือไม่อาจยังไม่รู้แน่ชัด

     จากผลที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ผลของกาแฟต่อสุขภาพนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีดูจะมีมากกว่าข้อเสียเล็กน้อย ผลบางอย่างข้อมูลปัจจุบันยังดูมีความขัดแย้งกันอยู่ อาจต้องรอการพิสูจน์ในอนาคตจึงจะทราบข้อสรุปที่ชัดเจนขึ้น ในประชากรบางกลุ่ม การดื่มกาแฟอาจก่อผลเสียได้ค่อนข้างมาก เช่น คนเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ คนเป็นโรคกระเพาะอาหาร คนเป็นโรคกรดไหลย้อน ประชากรกลุ่มนี้จึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟถ้าเป็นไปได้ แต่ในคนที่ไม่มีความเสี่ยงใดๆ แล้ว การดื่มกาแฟก็ไม่ได้เป็นเรื่องห้าม 


เอกสารอ้างอิง
1. Rudolph T, Knudsen K. A case of fatal caffeine poisoning. Acta Anaesthesiol Scand. 2010 Apr;54(4):521-3.
2. Wurl P. [Life-threatening caffeine poisoning by using coffee as a psychoactive drug]. Wien Klin Wochenschr. 1994;106(11):359-61.
3. Tamakoshi A, Lin Y, Kawado M, Yagyu K, Kikuchi S, Iso H. Effect of coffee consumption on all–cause and total cancer mortality: finding from the JACC study. Eur J Epidemiol 2011 Feb;[Epub ahead of print].
4. van Dieren S, Uiterwaal CS, van der Schouw YT, van der A DL, Boer JM, Spijkerman A, Grobbee DE, Beulens JW. Coffee and tea consumption and risk of type 2 diabetes. Diabetologia. 2009 Dec;52(12):2561-9.  
5. Woodward M, Tunstall-Pedoe H. Coffee and tea consumption in the Scottish Heart Health Study follow up: conflicting relations with coronary risk factors, coronary disease, and all cause mortality. J Epidemiol Community Health. 1999 Aug;53(8):481-7.
6. Choi HK, Willett W, Curhan G. Coffee consumption and risk of incident gout in men: a prospective study. Arthritis Rheum. 2007 Jun;56(6):2049-55.
7. van Deventer G, Kamemoto E, Kuznicki JT, Heckert DC, Schulte MC. Lower esophageal sphincter pressure, acid secretion, and blood gastrin after coffee consumption. Dig Dis Sci. 1992 Apr;37(4):558-69.
8. Namboodiripad AP, Kori S. Can coffee prevent caries?. J Conserv Dent. 2009 Jan;12(1):17-21.
9. Shapiro RE. Caffeine and headaches. Curr Pain Headache Rep. 2008 Aug;12(4):311-5.
10. Bakuradze T, Lang R, Hofmann T, Stiebitz H, Bytof G, Lanzt I, Baum M, et. al. Antioxidant effectiveness of coffee extracts and selected constituents in cell-free systems and human colon cell lines. Mol Nutr Fodd Res. 2010 Dec;54(12):1734-43
*****************************************************************
นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์ 
แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ 
โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีราชา

การดื่มกาแฟต่างก็มีทั้งโทษและประโยชน์ ควรดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อสุขภาพของเรานะค๊ะ 

ขอบคุณบทความดีๆ จาก http://www.samitivejhospitals.com/healthblog/Sriracha/blogdetail.php?id=46   

-----------------------------------------------------------------------------------
"ประเภทของกาแฟสด"


เคยไหมคะ ที่เวลารู้สึกอยากดื่มกาแฟขึ้นมา เมื่อเดินเข้าร้านกาแฟ แล้วไม่รู้ว่าจะสั่งกาแฟชนิดไหนดีครั้นจะบอกคนขายว่าเอากาแฟเย็น กาแฟร้อน เพียงอย่างเดียว คนขายก็อาจจะงง และไม่รู้ว่าจะทำสูตรไหนให้คุณดี

ดังนั้นเราจึงต้องคิดและสั่งสูตรกาแฟเองถูกไหมคะ แต่ก็นั่นอีกเช่นกัน ถึงแม้ว่าตามร้านกาแฟทั่วๆ ไป จะมีชื่อของสูตรกาแฟให้คุณสั่งอยู่หลายชนิดก็ตาม แต่คุณก็ยังคงไม่ทราบว่าจะสั่งสูตรไหนดี และแต่ละสูตรนั้นเป็นอย่างไร มีรสชาดอย่างไร มีส่วนผสมอะไรบ้าง และแต่ละสูตรนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร
ดังนั้นวันนี้เรามาดูกันนะคะว่า สูตรกาแฟที่อยู่บนป้ายตามร้านกาแฟต่างๆ นั้น แต่ละสูตรจะเป็นอย่างไร มีรสชาด ส่วนผสมอะไรบ้างค่ะ มาเริ่มกันที่สูตรแรก ก็คือ


คาปูชิโน : Cappuccino มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอิตาลี ซึ่งจะมี เอสเพรสโซ่และนม เป็นส่วนผสมหลักค่ะ คนในประเทศอิตาลีส่วนใหญ่มักมีการดื่มกาแฟชนิดคาปูชิโน่โดยเฉพาะในตอนเช้ากันค่ะ ซึ่งก็อาจจะมีขนมปังแผ่นหรือคุ้กกี้ประกอบด้วยค่ะ

ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าวิถีชีวิตของชาวอิตาลีมักไม่ค่อยรับประทานอาหารเช้าแบบเป็นกิจลักษณะ คาปูชิโนและขนมปังเบาๆ จึงเหมาะเป็นอาหารรองท้องสำหรับยามเช้า และด้วยเหตุนี้ทำให้ไม่ดื่มคาปูชิโนในช่วงอื่นของวัน


ลาเต้ : Latte สำหรับประเภทของกาแฟชนิดถัดมาก็คือ Latte ค่ะ ลาเต้เป็นภาษาอิตาลี ซึ่งมีความหมายที่แปลว่า นม นั่นเองค่ะ ดังนั้นรสชาดจึงมีความหวานและมันจากนมค่ะ กาแฟลาเต้นี้เป็นที่นิยมอย่างมากนอกประเทศอิตาลีช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 ค่ะ นอกจากนี้นะคะ กาแฟลาเต้ที่รู้จักกันในอิตาลี ยังมีความหมายที่ใกล้เคียงกับภาษาฝรั่งเศส "café au lait" ซึ่งหมายถึง กาแฟกับนม อีกด้วยค่ะ


มอคค่า : Mocca เป็นกาแฟอราบิก้าชนิดหนึ่ง สำหรับที่มาของกาแฟมอคค่านี้ก็เนื่องจาก กาแฟมอคค่านี้เป็นกาแฟอราบิก้าชนิดหนึ่งที่ปลูกอยู่บริเวณท่าเรือมอคค่า ในประเทศเยเมน นั่นเองค่ะ ซึ่งกาแฟมอคค่านี้จะมีสีและกลื่นคล้ายชอคโกแลต (แม้ว่าจะไม่มีส่วนประกอบของชอคโกแลตในมอคค่าเลยก็ตาม) ซึ่งก็นับว่าเป็นเอกลัษณ์เฉพาะของกาแฟมอคค่าค่ะ


นอกจากนี้มอคค่ายังหมายถึง สูตรกาแฟที่มีส่วนผสมระหว่าง เอสเพรสโซ่และโกโก้อีกด้วยค่ะ


อเมริกาโน : Café Americano สำหรับที่มาของชื่ออเมริกาโนนั้น ตีความกันอย่างง่ายๆ ก็หมายถึงสหรัฐอเมริกานั่นเองค่ะ ว่ากันว่าเอสเพรสโซเพียว ๆ นั้น เข้มข้นเกินไปสำหรับคอกาแฟชาวอเมริกา ดังนั้นจึงได้มีการปรับปรุงสูตร โดยมีการนำน้ำร้อนมาเจือจางกาแฟเอสเพรสโซเพือให้มีรสชาดที่เบาบางลงค่ะแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นถึงแม้ที่มาของชื่อจะหมายถึงกาแฟสไตล์อเมริกาก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอเมริกาโนนี้จะเป็นกาแฟที่คนอเมริกานิยมดื่มกันนะคะ


เอสเพรสโซ : Espresso และสำหรับกาแฟประเภทสุดท้ายนี้ก็คือ เอสเพรสโซ่ ที่มีรสชาดเข้มข้นที่สุดก็ว่าได้ค่ะ โดยที่มาของเอสเพรสโซ่นี้ มาจากคำในภาษาอิตาลี ที่แปลว่า เร่งด่วน


เอสเพรสโซเป็นกาแฟที่นิยมมากที่สุดในแถบประเทศยุโรปตอนใต้ โดยเฉพาะประเทศอิตาลีและฝรั่งเศส การสั่งกาแฟ "caffe" ในร้าน ส่วนใหญ่แล้วจะสั่งเป็นกาแฟเอสเพรสโซ่กันค่ะ


โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่ดื่มกาแฟเอสเพรสโซ่นั้นจะไม่เติม น้ำตาลหรือนม แต่อย่างใด ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะลิ้มรสของความเข้มข้นและหนักแน่นของเอสเพรสโซ่แท้ๆ Tips เล็กๆ น้อยๆ สำหรับผู้ที่ชื่นชอบเอสเพรสโซ่ ต้องดื่มในขณะที่ชงเสร็จใหม่ เนื่องจากเอสเพรสโซ๋มีความไวสูงในการทำปฏิกิริยากับออกซิเจน ดังนั้นเพื่อไม่ให้เสียรสชาดของเอสเพรสโซ่ที่แท้จริงก็ควรดื่มขณะที่ชงเสร็จใหม่ๆ ค่ะ


เป็นอย่างไรบ้างคะ สำหรับประเภทของกาแฟที่นำมาฝากในวันนี้ ทีนี้พอเข้าร้านกาแฟก็จะได้สั่งได้ถูกกันนะคะว่าต้องการดื่มรสชาดประมาณไหน หากเช้าไหนที่รู้สึกเหนื่อยและไม่ค่อยกระตือรือร้นสักเท่าไหร่ จะสั่งเอสเพรสโซ่เรียกพลังซักแก้วก็ไม่ว่ากันนะคะ
ขอขอบคุณบทความดีๆ จาก http://coffee-blood.blogspot.com/2008/04/blog-post.html

+++++++++++++++++++++++++++++++
กาแฟถ้วยโปรดบอกนิสัย

กาแฟถ้วยโปรดบอกนิสัย (modernmom)
โดย: สุดธิดา เปลี่ยนสายสืบ


          ในเช้าที่สดใส คุณแม่หลายคนต้องขอดื่มกาแฟถ้วยโปรดก่อนทุกเช้า ซึ่งบางคนอาจพบว่ากาแฟนำมาซึ่งสมองที่ตื่นตัว เตรียมพร้อมกับวันใหม่ๆ แต่รู้ไหมคะว่า รสชาติและรูปแบบของกาแฟที่คุณแม่ชื่นชอบดื่ม สามารถบอกตัวตนของคุณได้อีกด้วยนะคะ
ชอบกาแฟขม ๆ
          ถ้า เป็นคนที่ชอบกาแฟที่มีรสเข้ม ๆ ขม ๆ ก็บอกได้ว่าคุณเป็นคนเอาการเอางาน ช่างคิด เป็นนักวางแผน มีหัวทางธุรกิจ และชอบการทำงานที่ท้าทาย ทำให้เป็นคนเคร่งเครียดซีเรียสเสมอ คุณฝันถึงความสำเร็จ จนบางครั้งอาจลืมเรื่องจิตใจของคนอื่นไปบ้าง บ่อยครั้งที่คุณรู้สึกเหงาและไม่มีความสุข
ชอบกาแฟรสชาติหวานมัน
          ถ้า เป็นคนชอบดื่มกาแฟรสชาติเข้มออกหวานและมัน ๆ ด้วย คุณเป็นคนที่เปิดเผย ใจกว้าง รักสนุก เป็นคนร่าเริง ขี้เล่น แต่ก็รักความยุติธรรม ไม่ชอบการเอารัดเอาเปรียบ และจะไม่ยอมให้ใครมาเอาเปรียบคุณง่าย ๆ ด้วย
ชอบกาแฟที่กลิ่นหอมแรง
          ส่วน คนที่ชอบแบบที่มีกลิ่นหอมแรง ๆ รสชาติเข้มข้น บอกได้ว่าเป็นคนช่างเลือก มักเลือกแต่สิ่งที่ดีที่สุด เป็นคนพิถีพิถันละเอียดลออกับสิ่งต่าง ๆ รักเพื่อนรักพวกพ้อง คุณมักมีสังคมในแบบของคุณ ไม่ชอบคบคนที่มีความเห็นหรือสังคมที่ต่างกันออกไป
ชอบกาแฟรสอ่อน ๆ
          ถ้า คุณชอบดื่มกาแฟรสชาติอ่อน ๆ กลิ่นละมุนละไมนุ่มนวล ก็บอกได้ว่าคุณเป็นคนที่รักความสงบ รักษาสุขภาพ รักความสะอาด และความปลอดโปร่ง คุณเป็นคนที่เคารพความเห็นของผู้อื่น ไม่ชอบโต้แย้งหรือมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง เลี่ยงได้ก็จะเลี่ยง
ชอบกาแฟหวานจัด
          หาก เป็นคนชอบดื่มกาแฟที่รสชาติหวานมาก ๆ คุณเป็นคนที่มีอารมณ์อ่อนไหวเปราะบาง เปลี่ยนแปลงง่ายและแปรปรวน มักหมกมุ่นแต่เรื่องของตัวเองจนบางครั้งไม่สนใจใคร แต่ขณะเดียวกันคุณก็อยากเป็นคนพิเศษของใครสักคน
ชอบกาแฟรสกลมกล่อม
          ส่วน ที่ชอบดื่มกาแฟรสชาติที่พอดี ๆ ไม่หวานหรือขมเกินไป คุณเป็นคนที่มีความพอดีในจิตใจ มองเรื่องจิตใจสำคัญกว่าวัตถุ ไม่ชอบการต่อสู้แก่งแย่งแข่งขันเพื่อให้รู้ผลแพ้ชนะ คุณมักใส่ใจในเรื่องสุขภาพเสมอ รักการเรียนรู้ การศึกษา และการค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม
ชอบกาแฟร้อน ๆ
          ส่วน ที่ชอบดื่มกาแฟร้อน ๆ นั้น แสดงว่าเป็นคนที่หาความสุขได้อย่างง่าย ๆ จากรอบ ๆ ตัวคุณเอง เป็นคนที่มีชีวิตชีวา กระฉับกระเฉง ตื่นตัวและปรับตัวได้ดี คุณชอบเก็บเกี่ยวประสบการณ์ของคนอื่นมาเป็นบทเรียนชีวิต ที่จะทำให้คุณก้าวเดินได้อย่างไม่พลาดพลั้ง และยังแนะนำคนอื่นได้ด้วย
ชอบดื่มกาแฟเย็น
          ส่วน คนที่ชอบดื่มกาแฟเย็น ๆ และไม่ชอบดื่มกาแฟร้อน ๆ เลย คุณเป็นคนที่ขี้เหงาและขาดเพื่อนไม่ค่อยได้ มีความสุขที่ได้อยู่กับเพื่อนเยอะ ๆ คุณเป็นคนที่เวลาทำงานจะจริงจังมาก แต่ถึงเวลาพักจากงานก็จะสนุกเต็มที่เช่นกัน และคิดเสมอว่าต้องใช้ชีวิตให้คุ้มค่า แต่ปกติเป็นคนที่มีนิสัยร่าเริงอารมณ์ดี ทำให้ใคร ๆ ก็รักคุณกันทั้งนั้น
ขอขอบคุณบทความดีๆ จาก http://www.zonezeed.com/ForumId-10809-ViewForum.aspx